สถานที่แนะนำ
แสดงสถานที่ชุมชนปากแพรก
หอพระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
Continue Reading
พระตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (หอเทียนถาน)
พระตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (หอเทียนถาน, เทียน=ฟ้า ส ถาน=ที่สักการะหรือแท่นบูชา=สักการะฟ้า) ตั้งอยู่ภายในวัดถาวรวราราม สร้างจำลองแบบมาจากหอเทียนถานในกรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน สร้างขึ้นเพื่อฉลองวาระสำคัญที่สมเด็จพระสังฆราชเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ทางเจ้าอาวาสได้นำเรื่องที่จะสร้างพระตำหนักสมเด็จพระสังฆราช ไปขอประทานอนุญาตจากสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2539 ใช้เวลาก่อสร้าง 10 ปี และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 ตำหนักสังฆราชมีเครื่องหมายตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ “ญสส” ตำหนักนี้สร้างขึ้นเพื่อฉลองที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติ 60 ปี และสมเด็จพระสังฆราช มีพระชนมายุ 80 พรรษา ประติมากรรมที่ประดับจึงเป็นมังกร 5 เล็บ แทนองค์พระมหากษัตริย์ และหงส์แทนองค์สมเด็จพระสังฆราชฯ จิตรกรรมรูปต่าง ๆ ภายในพระตำหนักฯ ล้วนเป็นเรื่องมงคลทั้งสิ้น เช่น ค้างคาวภาษาจีน เรียกว่า ฮก ตรงกับคำฮก ซึ่งหมายถึง โชคลาภ ความมั่งมี บริบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ ทรัพย์สินเงิน
อ่านต่อ »
วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ)
วัดเทวสังฆาราม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควใหญ่ ตำบลบ้านเหนือ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ตามจารึกหลักเมืองกาญจนบุรี ที่กล่าวว่า “…เดชะข้าพเจ้าได้สร้างวัดและปฏิสังขรณ์ พระอารามในแขวงเมืองกาญจนบุรี 5 อาราม” เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จประพาสไทรโยค ในปี พ.ศ. 2431 ได้เสด็จไปวัดเหนือ และทอดพระเนตรเห็นกำลังรื้อโบสถ์เก่า เพื่อสร้างโบสถ์ใหม่ในที่เดิม จึงได้บริจาคพระราชทรัพย์สมทบการก่อสร้าง 10 ชั่ง พระอุโบสถหลังนี้เป็นพระอุโบสถหลังเล็ก ๆ มีบานประตูจำหลักเป็นลายดอกพุดตาน หน้าบันเป็นรูปช้างเอราวัณเชิญพานเกล้า ภายในอุโบสถมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังทั้งสี่ด้าน เป็นรูปพระพุทธประวัติตอนต่าง ๆ ภาพ แสดงถึงการคมนาคมทางน้ำ-บก การแต่งกายในสมัยนั้นในปี พ.ศ. 2478 พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาและคุณหญิงพิศ ภรรยา (ชาวเมืองกาญจนบุรี) ได้เชิญชวนสโมสรคณะราษฎรมาทอดกฐิน เพื่อรวบรวมสร้างอุโบสถหลังใหม่และได้เริ่มสร้างเมื่อ 24 ตุลาคม 2480 สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2493 วัดนี้ได้รับพระราชทานยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2505 และรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จมาทอดกฐินต้น เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2506 สมเด็จพระญาฯสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆผรินายกได้ผนวชที่วัดนี้
อ่านต่อ »
หอพระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
หอพระประวัติสมเด็จพระญาณสังวรฯ อยู่ภายในวัดเทวสังฆาราม สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติที่พระองค์ท่าน มีพระชาติภูมิเป็นชาวเมืองกาญจน์ และในโอกาสที่พระองค์ท่านเจริญพระชนมายุครบ 96 พรรษา ในปี พ.ศ. 2552 ผู้ออกแบบอาคารหอประวัติฯ คือ คุณวิญญู หมั่นการ ซึ่งเป็นโยธาจังหวัดกาญจนบุรีในขณะนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2553 การก่อสร้างกินเวลา 3 ปี จึงแล้วเสร็จ และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน และทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระรูปเหมือนสมเด็จพระสังฆราชฯ เมื่อหล่อเสร็จแล้วได้นำมาประดิษฐาน ณ หอพระประวัตินี้ เพื่อให้สาธุชนได้สักการะ ภายในหอประวัติได้จัดการแสดง ดังนี้ ชั้นที่ 1 แสดงเกี่ยวกับเรื่องราวสมเด็จพระสังฆราชในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ 19 พระองค์ และพระประวัติพร้อมพระจริยวัตรของสมเด็จพระญาณสังวรฯ ชั้นที่ 2 แสดงพระศาสนกิจ พระเกียรติคุณ ผลงาน พระนิพนธ์และเครื่องประกอบสมณศักดิ์ของสมเด็จพระญาณสังวรฯ ชั้นที่ 3 เป็นห้องวิปัสนากรรมฐาน เพื่อเป็นสถานที่ให้ประชาชนได้ฝึกปฏิบัติธรรม จากชั้นบนสุดสามารถมองเห็นทิวทัศน์เมืองกาญจนบุรีได้รอบ 360 องศา
อ่านต่อ »
บ้านชิ้นปิ่นเกลียว (บ้านญวนหลังสุดท้ายในถนนปากแพรก)
บ้านชั้นครึ่ง ก่ออิฐถือปูน ประตูไม้แบบเฟี้ยม (พับ) มีช่องลมโค้งเล็กน้อยทำเป็นลูกกรงเหล็ก หลังคามุงกระเบื้องข้าวหลามตัด ไม่มีชายคายื่นออกมา ด้านข้างมีประตู-หน้าต่าง ชั้นบนสร้างด้วยไม้ ผู้สร้าง คือ นายอ๋วง ภรรยาชื่อตอม ชิ้นปิ้นเกลียว เป็นญวน สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2418 ปัจจุบันเป็นของ นางประนอม ชิ้นปิ่นเกลียว
อ่านต่อ »
ที่ทำการสารวัตรทหารญี่ปุ่น
ทหารญี่ปุ่นเช่าห้องแถวจากร้อยตรี นายแพทย์เกษม ภังคานนท์ ระหว่างปี พ.ศ. 2485-2488 ทำเป็นสำนักงานสารวัตรทหารญี่ปุ่น ตั้งสิบเอก โทลุ โอมะ เป็นหัวหน้าสารวัตร เขาพูดได้พอได้ เข้ากับคนไทยได้ดี หน้าที่ของสารวัตร ตรวจวินิจฉัยของทหารญี่ปุ่นที่ออกเที่ยวและเมาพร้อมสืบหาเชลยศึกที่หลบหนี และจับขโมยที่ขโมยของญี่ปุ่น โทษเบาทำโทษตามสิ่งของที่ขโมย ขโมยรองเท้าให้ยืนเอารองเท้าแขวนคอ ขโมยน้ำมันเอาน้ำสบู่กรอกปากหรือใช้เชือกมัดมือโยงกับต้นไม้ทรมานระยะหนึ่งแล้วจึงปล่อย ถ้าเป็นคดีสำคัญก็ร่วมมือกับฝ่ายไทยเอาขึ้นศาล คุณชัชวาล วิสุทธากร เจ้าของบ้านคนปัจจุบัน เล่าว่า ทหารญี่ปุ่นได้ขุดอุโมงค์จากหลังบ้านของบ้านหลังนี้ไปทะลุตลิ่งริมวัดเหนือ อุโมงค์นี้เป็นความลับของทหารญี่ปุ่น ไม่มีใครทราบจุดประสงค์ของการขุดอุโมงค์ที่แท้จริง
อ่านต่อ »
บ้านคชวัตร
บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2520 แทนหลังเก่าที่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2464 เป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง ชั้นเดียว มี 4 ห้อง หลังคามุงกระเบื้อง เจ้าของคนปัจจุบัน คือ นางสาวรัตนา คชวัตร สถานที่นี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ สมเด็จพระสังฆราชฯ ได้เสด็จมาบำเพ็ญกุศลแด่บรรพบุรุษในช่วงสงกรานต์ เดือนเมษายน และเยี่ยมญาติเป็นประจำทุกปี ปีใดไม่ได้เสด็จมามอบให้ผู้แทนพระองค์มาปฏิบัติหน้าที่แทน ปี พ.ศ. 2549 เป็นปีสุดท้ายที่พระองค์เสด็จมาด้วยพระองค์เอง
อ่านต่อ »
บ้านกุลสุวรรณ
เป็นบ้านไม้สองชั้น ทรงปั้นหยา ด้านหน้ามีมุขกลาง มีช่องระบายลม ส่วนบนใกล้เพดาน ที่หน้าบ้านเป็นบานเกล็ดระบายอากาศ เหนือประตูและบริเวณระเบียงใส่กระจกสี มีมุขหลัง ฝาไม้เข้าลิ้น หลังคามุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์รูปข้าวหลามตัด บ้านหลังนี้สร้างปลายรัชกาลที่ 5 ได้รับอิทธิพลแบบสิงคโปร์ เจ้าของปัจจุบันคือ นายประยูร กุลสุวรรณ
อ่านต่อ »
บ้านอำนวยโชค
บ้านตึก 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูนพื้นไม้ ชั้นบนมีระเบียง ระหว่างเสาทั้งชั้นบนและล่างเป็นรูปโค้ง หลังคาทำเป็นดาดฟ้า หน้าต่างบานคู่ บ้านล้อมด้วยกำแพงก่ออิฐถือปูนมีซุ้มประตู เจ้าของเดิมเสียชีวิต จึงตกเป็นมรดกของ นายยัง บูรณกาล ปัจจุบันเป็นของ ทนายตั๋ง บูรณกาล
อ่านต่อ »
บ้านนิวาศแสนสุข
บ้านไม้ 2 ชั้น ทรงปั้นหยาขนาดใหญ่ มีมุขยื่นออกมา ด้านซ้ายมีบานหน้าต่างมาก บานประตูใหญ่ทำด้วยไม้ พื้นไม้ มีกำแพงล้อมรอบบ้าน บ้านหลังนี้เดิมเป็นของ คุณญิงพิศ พหลโยธิน และเป็นเรือนหอของพระยาพหลพลพยุหเสนากับคุณหญิงพศ ต่อมาขายให้นายตี๋ มาโนช สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเช่าทำเป็นสำนักงาน ปัจจุบันเป็นของนายศิริชัย มาโนช
อ่านต่อ »
บ้านสุธี
บ้านตึก 2 ชั้น ทรงปั้นหยาสร้างด้วยอิฐถือปูน มีมุขด้านหน้า หน้าจั่วตรงมุขมีลายปูนปั้นอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมเป็นลายเครือเถา เขียนว่า “ธนโสภณ” บ้านด้านข้างมีระบียงทั้ง 2 ชั้น ที่ระเบียงระดับช่องลมประดับด้วยไม้ฉลุ หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์ กรอบหน้าต่างด้านบนเป็นช่องทึบเป็นลายปูนปั้นแบบโค้งตั้ง มีกำแพงล้อม มีซุ้มประตูที่ซุ้มประตูเขียนบ้านสุธี ผู้สร้างบ้าน คือ นายฮก ธนโสภณ ต่อมาเป็นของ นายจำลอง ธนโสภณ ลูกชาย ปัจจุบันเป็นของ นายงจงสฤษณ์ ธนโสภณ เป็นหลาน สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเช่าทำเป็นโรงแรม
อ่านต่อ »
บ้านรัตนกุสุมภ์
แบบเรือนมนิลา 2 ชั้น สร้างประมาณ ปีพ.ศ. 2492 เนื้อที่ประมาณ 72 ตารางวา เดิมเป็นบ้านทนายความ ปัจจุบันมีการซ่อมแซมโดยเทพื้นบ้าน เปลี่ยนหลังคา ชั้นล่างก่ออิฐโชว์แนว ประตูแบบเฟี้ยม ผู้รับมรดก คือ นางทับทิม ปานมณี นางชนินทร สุวรรณพูล นายทินกร รัตนกุสุมภ์ และนางวิภาพรณ์ โห้ยขัน ผู้เป็นเจ้าของคนปัจจุบันคือ นายปัญญา และนางวะนิดา ปลาทิพย์ ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นายพันทหารญีปุ่นชื่อ “ทาการิมาระ” พร้อมลูกน้อง 5 คน ได้เช่าอาศัย หลังญี่ปุ่นแพ้สงครามก่อนกลับญี่ปุ่น นายทาการิมาระ ได้มอบ “ชุดลายครามและดาบซามูไร” แก่เจ้าของบ้านเป็นที่ระลึก ลูกหลานได้เก็บรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2520 สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชฯ ได้เสด็จมาบ้านรัตนกุสุมภ์ เนื่องในงานมงคลสมรสองของนายปัญญา ปลาทิพย์ กับนางสาววะนิดา รัตนกุสุมภ์ พร้อมประทานน้ำพระพุทธมนต์ และพระ “ภปร” ขนาด 5 นิ้ว 1 องค์ นับเป็นสิริมงคลและบุญบารมีสูงสุดของครอบครัวอันหาที่สุดมิได้
อ่านต่อ »
บ้านบุญไชยพานิช
บ้านตึก 2 ชั้น หลังคาดาดฟ้ามุงกระเบื้อง ชั้นบนมีระเบียงยื่นออกมา มีเสาปูนรองรับ มีคอหัวเสารองรับเสาทุกต้น และมีลวดลายแบบจีน ประตูไม้แบบเฟี้ยม หน้าต่างชั้น 2 เป็นบานคู่ มีลวดหลายโค้งตั้งบนกรอบหน้าต่าง เจ้าของบ้านเดิมชื่อทับ เป็นชาวญวน เจ้าของปัจจุบัน คือ นางรัตนา บุญไชย
อ่านต่อ »
บ้านแต้มทอง
บ้านตึกหลังแรกในถนนปากแพรก สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน ปัจจุบันยังคงสภาพสมบูรณ์เหมือนของเดิม เดิมเป็นร้านค้าขายสินค้าหลายอย่าง โดยเฉพาะของจีน ทั้งเครื่องยาจีน ทอง และขายสืบทอดต่อกันมา จากนายกิมสาย-นางสมนา แต้มทอง ตกทอดมาถึงนายน้ำแท้-นางพัชรี แต้มทอง ปัจจุบันนางพัชรี แต้มทอง ยังคงพักอาศัยอยู่ ผู้สร้างบ้านหลังนี้คือ นายฮะฮ้อ แต้มทอง (แซ่อื้อ) เป็นชาวจีนที่มาตั้งบ้านเรือนที่ถนนปากแพรก ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้กลับไปประเทศจีนและนำช่างคนจีนมาสร้างบ้านพร้อมเตียงดำมาด้วย ปัจจุบันอายุบ้านประมาณ 150 ปี ครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสไทรโยค เมื่อปี พ.ศ. 2420 และทรงมาถึงบ้านแต้มทองพระองค์ทรงคิดว่าเป็นศาลเจ้าแห่งใหม่
อ่านต่อ »
บ้านศิวภา
บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น 2 คูหา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2460 ชั้นบนมีระเบียง หลังคามุงกระเบื้อง ประตูเป็นบานเฟี้ยม ปัจจุบันมีประตูเหล็กซ้อนด้านหน้า เหนือกรอบหน้าต่างชั้นบนประดับกระเบื้องลวดลายจีน เหนือกรอบประตูมีอักษรจีน นายล้ง เจียจำรูญ สร้างบ้านหลังนี้ด้วยตัวเอง ใช้ไม้ลวกเป็นโครงด้านใน ใช้ปูนขาวผสมดินทรายตำให้เหนียวข้นใช้แทนปูนซีเมนต์ ในอดีตขายของชำ ซ่อมจักรยาน ตัดเสื้อผ้า และทำผม เจ้าของปัจจุบันคือ นางนิดดา ศรีทองสุข
อ่านต่อ »
บ้านฮั้วฮง
บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้สองชั้นสามคูหา ชั้น 2 เป็นระเบียงยื่นออกมา ที่ระเบียงหล่อด้วยปูนประดับ ระเบียงมีเสารองรับ ชั้นบนสุดเป็นดาดฟ้าตรงกลางทึบมีลวดลายและภาพนาฬิกามีอักษรจีนว่า “ตั้งฮั้วฮง” นายฮั้ว แซ่ตัน ซึ่งมาจากประเทศจีนเป็นผู้สร้างบ้านหลังนี้ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เปิดเป็นร้านขายของชำ ด้านหลังบ้านในสุดสร้างเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น สำหรับรับรองลูกค้าที่มาจากทางไกล (เกาะสำโรง ยางเกราะ) เพื่อซื้อสินค้าจากทางร้าน ลูกค้าเหล่านี้เดินทางมาทางเรือหลังบ้าน ขุดหลุมหลบภัยในสมัยสงครามโลกด้วย ทหารญี่ปุ่นมาซื้อสินค้าบ้างเป็นครั้งคราว ทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งที่สนิทกับทางร้านมากได้มอบกล้องถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก เจ้าของบ้านคนปัจจุบันคือ นายชาญณรงค์ นัยวินิจ
อ่านต่อ »
โรงแรมกาญจนบุรี
เป็นตึก 3 ชั้น 3 คูหา สร้างด้วยปูนซีเมนต์ทั้งหลัง ชั้น 2 มีระเบียงยื่นออกมาตลอดชั้น 3 ตรงกลางทึบ มีหน้าต่างคู่ กรอบหน้าต่างด้านบนโค้ง ทั้งหน้าต่างและบนกรอบหน้าต่างติดกระจกสี ด้านข้างซ้าย-ขวา เป็นระเบียงยื่นออกมา ชั้นบนเป็นดาดาฟ้า ส่วนที่เป็นระเบียงและดาดฟ้ามีลูกกรงปูนเลียนแบบการก่อสร้างจากประเทศจีน มีห้องพัก 14 ห้อง นายฮั้วฮง แซ่ตัน เริ่มสร้างโรงแรมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เดิมเป็นหลังคามุงจาก ค่าที่พักในสมัยนั้น คืนละ 2-4 บาท ผู้พักส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าไม้จากทองผาภูมิ สังขละบุรี ข้าราชการที่มาราชการและชนกลุ่มน้อยจากชายแดน ปัจจุบันเป็นของนางสาวนงนุช มาโนช
อ่านต่อ »
กองโสเภณี
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเช่าเรือนไม้ 2 ชั้นขนาดใหญ่หลังหนึ่งมีห้องมากกว่า 10 ห้อง เป็นกองโสเภณีหญิงบริการ หญิงเหล่านี้มีทั้งเกาหลีและญี่ปุ่นไว้บริการทหารญี่ปุ่น หญิงเหล่านี้ได้รับการตรวจเช็คร่างกายจากแพทย์ญี่ปุ่นเป็นอย่างดี (ปัจจุบันเป็นที่ว่างข้างบ้านบุญเลี้ยง)
อ่านต่อ »
ร้านชวนพานิช
เป็นตึกแถว 3 ชั้น 3 ห้อง สร้างในปี พ.ศ. 2472 ชั้นบนเป็นดาดฟ้า นางตั่งงี่ ช้วน และนางเน้ยฮวย เป็นเจ้าของ ใช้ช่างพื้นเมืองในการสร้าง โดยหล่อปูนทั้งหลัง ใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ประตูบ้านเป็นไม้หนาแบบเฟี้ยม เหนือประตูบ้านเป็นช่องลมโค้งเล็กน้อย เป็นลูกกรงเหล็ก ลูกกรงระเบียงชั้น 2 ด้านหน้าเป็นปูนซีเมนต์หล่อมีลวดลายแบบจีน ค่าก่อสร้างประมาณ 9,000 บาท ผู้เป็นเจ้าของคนปัจจุบันคือนายสุรพล ตันติพานิช (รุ่นเหลน) สมัยก่อนขายเครื่องบวชสังฆภัณฑ์และของชำ ขายด้ายสำหรับทอผ้าขาวม้า ส่งด้ายให้ชุมชนบ้านใต้
อ่านต่อ »
บ้านศิริชุมแสง
ตึกแถว 2 ชั้น 3 คูหา สร้างด้วยปูนพื้นไม้ ด้านหน้ามีระเบียงลูกกรงปูน หน้าต่างคู่ บนกรอบหน้าต่าง ประดับด้วยกระจก ที่คอหัวเสามีลวดลายบัวรับ มีการซ่อมแซมทาสีใหม่ ผู้สร้างนางกิมเหรียญ ศิริชุมแสง เจ้าของปัจจุบัน นายวิศาล ศิริชุมแสง
อ่านต่อ »
บ้านบุญเยี่ยม เจียระไน (คุ้มจันทร์ศิริ)
เป็นตึก 2 ชั้น 3 คูหา สร้างประมาณ พ.ศ. 2470 เป็นสถาปัตยกรรมแบบ ซิโน-โปตุกีส มีเสาแบบโรมันคลาสสิกรองรับระเบียงที่ยื่นออกมา หน้าต่างชั้นสองเป็นบานคู่ ช่องลมทึบเป็นรูปโค้ง มีลวดลายอ่อนช้อยเป็นจุดเด่นของบ้าน ประตูบ้านเดิมเป็นแบบเฟี้ยม ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นประตูเหล็ก เจ้าของบ้านคนปัจจุบัน คือ นายอ๋า เจนเจริญวัฒนา
อ่านต่อ »
บ้านบุญผ่อง แอนด์ บราเดอร์ (สิริโอสถ)
ตึก 3 ชั้น 3 คูหา ชั้น 2 และ 3 มีระเบียงหน้าต่างบานคู่ เหนือกรอบหน้าต่างใส่กระจกสี ชั้นบนสุดเป็นดาดฟ้า ด้านหน้าตรงกลางเขียน “สิริโอสถ” ประตูลูกกรงเหล็กกรอบไม้ปิดด้วยสังกะสีแบบเฟี้ยม ปัจจุบันมีประตูเหล็กอยู่ด้านในชั้นหนึ่ง ขุนสิริ เวชชะพันธ์ สร้างบ้านหลังนี้เมื่อ พ.ศ. 2478 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2483-2487) นายบุญผ่อง บุตรคนโตของขุนสิริเวชชะพันธ์ ร่วมกับน้องอีก 5 คน ตั้งเป็นร้านขายของชำ ญี่ปุ่นได้มาติดต่อซื้ออาหารและสิ่งของต่าง ๆ จากนายบุญผ่อง บางครั้งใช้เชลยขนของไป บางครั้งนายบุญผ่องต้องส่งไปให้ที่ค่ายญี่ปุ่น จึงได้เห็นความทุกยากของเชลย จึงหาทางช่วยเหลืออย่างลับ ๆ โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ เช่น แอบส่งยารักษาโรคมาลาเรีย เครื่องมือแพทย์ เครื่องมือสื่อสาร (ถ้าญี่ปุ่นจับได้ต้องตายสถานเดียว) ยังได้ช่วยเชลยที่หนีจากค่ายญี่ปุ่นได้จำนวนหนึ่ง เชลยศึกที่รอดชีวิตกลับไปสำนึกบุญคุณของนายบุญผ่องและครอบครัวได้ให้สมญานามว่า “วีรบุรุษสงครามของทางรถไฟสายมรณะ” และช่วยให้ไทยไม่ต้องถูกปฏิบัติอย่างผู้แพ้สงคราม เขาได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากรัฐบาลออสเตรเลีย อังกฤษ เนเธอแลนด์ ได้รับยศพันโท ในกองทัพอังกฤษในปี พ.ศ. 2515 สมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 2 และพระสวามีเสด็จมาเยือนประเทศไทย มีรับสั่งให้นายบุญผ่องและภรรยาเข้าเฝ้า และร่วมโต๊ะเสวยอาหาร นายแพทย์เวียรี่ ดันลอป ซึ่งเป็นเชลยศึกและติดต่อขอความช่วยเหลือโดยตรงจากนายบุญผ่อง เมื่อกลับไปได้ตั้งกองทุนชื่อ "เวียรี่ ดันลอป บุญผ่อง เฟลโลชิป" ให้ทุนศัลยแพทย์ไทยไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย ปีละ 6 ทุน และยกย่องแพทย์ที่ได้รับทุนเป็นเหมือนทุตสันติภาพของ 2 ประเทศ ทุนนี้ให้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 จนถึงปัจจุบัน เจ้าของบ้านคนปัจจุบัน คือ พ.ต.ท.อนุศิลป์ สิริเวชชะพันธ์
อ่านต่อ »
บ้านไทยเสรี
เป็นบ้าน 2 ชั้น 1 คูหา ครึ่งตึกครึ่งไม้ ชั้นบนมีระเบียง มีลวดลาย ลูกกรงปูนลายเพทพนม กรอบประตูชั้นล่างมีลายฉลุเป็นลายก้านขนหลังคาเดิมเป็นปูน บานประตูคู่ทึบ เจ้าของเดิม ผู้ใหญ่เก้ง ปัจจุบันเป็นของนายดิลก ครุฑฒานุรักษ์ ไม่ทราบปีสร้างที่แน่ชัด แต่สร้างก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มิชชันนารี ที่เข้ามาสอนศาสนายังใช้เป็นโรงพยาบาลด้วย
อ่านต่อ »
บ้านสิทธิสังข์
เป็นตึก 2 ชั้น 3 คูหา สร้างด้วยปูนทั้งหลัง หน้าบ้านมีระเบียงบื่นออกมา มีเสาปูนรองรับ มีบัวหัวเสา เสาชั้น 2 ด้านบนเป็นรูปโค้ง ประตูเป็นแบบเฟี้ยม เหนือกรอบประตูมีลายเครือเถา เหนือลายฉลุเป็นภาพปูนปั้นลายก้านขด มีจารึก พ.ศ. ที่สร้าง สีที่ใช้ทาบ้านนำดินจากทุ่งนาคราช มากรองผสมน้ำข้าวเหนียวใช้ทาง (สีปูน) ผู้สร้าง คือ ขุนวิจิตระบิล (พร้า สิทธิสังข์) และนางจิตต์ สิทธิสังข์ รับราชการเป็นจ่าศาลจังหวัดกาญจนบุรี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2463 ต่อมาเป็นของนายประพฤติ สิทธิสังข์ บุตรชาย ปัจจุบันเป็นของตระกูลสิทธิสังข์ ตัวบ้านมีการปรับปรุงและทาสีใหม่
อ่านต่อ »
บ้านสหกุลพาณิชย์
ตึก 3 ชั้น ชั้นบนเป็นดาดฟ้า ชั้น 2 มีระเบียงยื่นออกมา ลูกกรงทั้งชั้น 2,3 มีลวดลาย ชั้น 2 มีหน้าต่างไม้ใส่กระจกที่กรอบบน ผู้สร้าง คือ นายยง เลาหกุล ใช้ช่างชาวจีนและช่างท้องถิ่น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเช่าเป็นที่พักของนายทหาร และติดตั้งปืนกลบนดาดฟ้า เจ้าของคนปัจจุบันคือ นางสาววลี เลาหกุล
อ่านต่อ »
ประตูเมือง
เป็นประตูเมืองประตูเดียวที่ยังเหลืออยู่จากทั้งหมด 8 ประตู ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทรงให้สร้างเมืองขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2374 มีขนาดกว้าง 5 เส้น ยาว 10 เส้น 18 วา ภายในเมืองเป็นที่ตั้งสถานที่ราชการ บ้านพักข้าราชการ เรือนจำ จวนผู้ว่าราชการฯ ประชาชนตั้งบ้านเรือนนอกประตูเมืองริมแม่น้ำแควใหญ่ คือถนนปากแพรกในปัจจุบัน
อ่านต่อ »
ศาลหลักเมือง
สร้างสมัยพระยาประสิทธิ์สงคราม (รามภักดีศรีวิเศษ) เป็นเจ้าเมืองกาญจนบุรี คนที่ 2 เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพสักการะบูชาของชาวกาญจนบุรี เชื่อว่าศาลแห่งนี้เป็นที่รวมวิญญาณของชาวกาญจนบุรี สามารถดลบันดาลให้เกิดความผาสุข ร่วมเย็นได้ ดังนั้น เมื่อประชาชนมีการจัดงานต่าง ๆ เช่น บวช แต่ง โกนผมไฟ จะมาสักการะบอกกล่าวแก่ศาลหลักเมือง
อ่านต่อ »
โรงงานกระดาษกาญจนบุรี
เป็นโรงงานกระดาษแห่งที่สองในประเทศไทย พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2479 และทำพิธีเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2481 วัสดุที่สำคัญในการผลิตกระดาษ คือ ไม้ไผ่ ที่มีมากมายในจังหวัดกาญจนบุรี ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2485-2489) ได้นำกระดาษที่ผลิตได้จากโรงงานแห่งนี้ ส่งให้กรมแผนที่ทหารบก ใช้พิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้เอง ธนบัตรมีสภาพเหมือนแบงค์กงเต็ก ชาวบ้านเรียกธนบัตร “กงเต็ก” มีการลือว่าญี่ปุ่นได้แอบผลิตธนบัตรนี้เพื่อนำมาใช้ในกองทัพญี่ปุ่น ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างมากในขณะนั้น
อ่านต่อ »
วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้)
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองฝั่งตะวันออก สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลายอยู่ทางทิศใต้ของเมือง ประชาชนเรียกวัดใต้ หลังจากไทยเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ย้ายเมืองหลวงมาที่กรุงธนบุรีต่อมาย้ายไปกรุงเทพฯ พม่าจึงเปลี่ยนเส้นทางเดินทัพใหม่ โดยล่องเรือมาตามลำน้ำแควน้อยและแควใหญ่ ลำน้ำทั้งสองไหลมาบรรจบกันที่บริเวณลิ้นช้าง ตำบลปากแพรก กลายเป็นแม่น้ำแม่กลอง สมเด็จพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ผู้ชำนาญการศึกในภูมิภาคนี้ จึงย้ายฐานทัพซึ่งเคยตั้งรับทัพพม่าที่เขาชนไก่ ตำบลลาดหญ้า มาอยู่ที่ตำบลปากแพรก และก่อนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) และสมเด็จพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจะยกทัพไปตีพม่าทุกครั้ง ได้มาประชุมพลที่ตำบลปากแพรก เมื่อยกไปตีพม่าก็มีชัยทุกครั้ง จึงตั้งชื่อวัดว่า “วัดไชยชุมพลชนะสงคราม” ตั้งถูกต้องตามกฎหมายเมื่อปี พ.ศ. 2318 สิ่งก่อสร้างที่สำคัญภายในวัดมีหลายอย่าง เช่น มณฑปหลังเก่าสร้างเมื่อ พ.ศ.2456 ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง พระอุโบสถหลังเก่าสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2370 ประดิษฐานพระพุทธรูปอายุร้อยกว่าปี เพดานเขียนภาพพรหมลูกฟัก ภาพเทวดา ภาพราหูอมจันทร์ผนังด้านข้างเขียนภาพประวัติขุนแผนย่างกุมารทอง มณฑปหลวงพ่อวัดใต้ ภายในประดิษฐานรูปหลวงปู่เปลี่ยน หลวงพ่อจู หลวงพ่อก้าน และหลวงพ่อไพบูลย์ ทั้งหมดเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดไชยชุมพลชนะสงคราม
อ่านต่อ »